ออกแล้ว “กฏหมายปราบตำรวจสายโจร”
“รีดทรัพย์” “จับคนเรียกค่าไถ่-ส่งส่วย”
ประชาชนเตรียม “เฮ”

“….ประชาชนจงฟัง กระบวนการยุติธรรมอาญา” ของไทยจะไม่เป็น “เครื่องจักรรีดไถ” สร้างความร่ำรวยให้ “ตำรวจผู้ใหญ่” หรือเจ้าพนักงานของรัฐหน่วยใดอีกต่อไป พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ที่ผ่านสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ และจะมีผลใน ๑๒๐ วัน คือ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ จึงเป็นกฎหมายที่จะก่อให้เกิดการ ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ของไทยครั้งใหญ่ อาจกล่าวได้ว่าในรอบร้อยปี ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่จะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมอาญาได้เท่ากับ กฎหมายที่ก้าวหน้าและเป็นสากล เช่นฉบับนี้…”

ปัญหาตำรวจไทยในปัจจุบันได้พัฒนาและสะสมปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จน หลายเรื่อง ผู้มีอำนาจและคนส่วนใหญ่มองไม่เห็นและไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาอะไร แล้ว อย่างเช่น ปัญหาการ “รีดส่วย” และ “ส่งส่วย” ที่หน่วยงานตำรวจเป็น “องค์กรต้นแบบ” กระทำกันมานานจนแทบจะกลายเป็นระเบียบแบบแผนการปฏิบัติราชการอย่างหนึ่งไปแล้วก็ว่าได้!

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตำรวจไทยสามารถรีดส่วยจากผู้กระทำผิดกฎหมายไป ส่งส่วยให้ตำรวจผู้ใหญ่ ได้ ก็ด้วยเงื่อนไข “การจับกุม” และ “ผูกขาดอำนาจสอบสวน”

“ทุกคดี” ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ “หัวหน้าหน่วยการปกครองในท้องที่”

แม้กระทั่ง พนักงานอัยการ ผู้มีหน้าที่ตรวจพยานหลักฐานและนำคดีไปฟ้องพิสูจน์การกระทำผิดต่อศาล

แต่ละวันก็ได้แต่นั่งอ่าน “สำนวน” ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเป็น”นิยายสอบสวน” อยู่จำนวนเท่าใด?

สังคมไทยในปัจจุบัน ในแต่ละวัน แต่ละเดือน และแต่ละปี มีการกระทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเกิดขึ้นจริงจำนวนมากเพียงใด ไม่มีใครบอกได้แน่ชัด?

เพราะหากการกระทำผิดใดที่ตำรวจตรวจไม่พบ ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่จับ ไม่ว่าจะเพราะรับส่วยสินบนหรือเพราะเหตุใด

ก็ไม่มีการดำเนินคดีอะไรให้ปรากฏ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการกระทำผิดต่อรัฐ เช่น การขนค้ายาเสพติด การทำผิดกฎหมายการพนัน สถานบริการ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ร.บ.จราจร ฯลฯ

รวมไปถึงคดีที่มีประชาชนเป็นผู้เสียหาย แต่เบื่อหน่ายที่จะไปแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดี หรือแม้แต่มีผู้ไปแจ้งความแล้ว พนักงานสอบสวนก็ไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ “ออกเลขคดีอาญา” เข้าสารบบให้

ตำรวจผู้น้อยไม่กล้าทำโดยพลการ เพื่อที่จะได้ไม่โดนตำรวจผู้ใหญ่ ด่าว่า เป็นต้นเหตุทำให้สถิติคดีอาญาในพื้นที่สูงขึ้น

รวมทั้งต้องยุ่งยากในการสอบสวนพิมพ์สำนวนเสนอให้พนักงานอัยการ ตรวจสอบ และสั่งคดีเพื่อให้เป็นที่ยุติ และ “ยุติธรรม” ตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย!

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดต่อรัฐ แล้วนำตัวมา “เจรจาต่อรอง” ได้ “เงิน” หรือ “ทรัพย์สิน” จนเป็นที่พอใจของ ตำรวจผู้ใหญ่ แล้วปล่อยตัวไปก็มากมาย!

โดยเฉพาะ กฎหมายยาเสพติดที่วิปริต เปิดช่องให้ตำรวจผู้จับมีอำนาจนำตัวผู้ต้องหาไปเจรจาต่อรองเพื่อการสืบสวนถึงผู้ค้ารายใหญ่ได้เป็นเวลา สามวัน!

เป็น “สามวันอันตราย” ที่ส่งผล เสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างยิ่ง!

ปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน กำลังเริ่มมีการแก้ปัญหาด้วยกฏหมายบ้างแล้ว โดยพ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ เผยว่า“….พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ที่ผ่านสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ จะมีผลใน ๑๒๐ วัน คือ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เป็นกฎหมายที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยครั้งใหญ่ เมื่อถึงวันกฎหมายมีผลเจ้าพนักงานของรัฐทุกคนที่มีอำนาจจับกุมทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นการจับตามหมายหรือในกรณีกระทำผิดซึ่งหน้า ถ้ามีการทำร้ายไม่บาดเจ็บสาหัส มีโทษตามมาตรา ๓๕ จำคุกถึงสิบห้าปี แต่หากเป็นกรณีสาหัส มีโทษตามวรรคสอง จำคุกถึงยี่สิบห้าปี ถ้าเป็นกรณี “ย่ำยีศักดิ์ศรีความมนุษย์” คือ “พฤติกรรมที่คนทั่วไปไม่ทำกัน” มีโทษตามมาตรา ๓๖ มีโทษจำคุกถึงสามปี ผู้ใดพบเห็น สามารถไปแจ้งต่อ “นายอำเภอ” หรือ “อัยการจังหวัด” ให้สอบสวนดำเนินคดีได้ทันที หากเป็นกรณีในกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งต่ออธิบดีกรมการปกครองหรืออัยการพื้นที่สอบสวนได้

“กระบวนการยุติธรรมอาญา” ของไทยจะไม่เป็น “เครื่องจักรรีดไถ” สร้างความร่ำรวยให้ “ตำรวจผู้ใหญ่” หรือเจ้าพนักงานของรัฐหน่วยใดอีกต่อไป…”

ดังนั้น พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ที่ผ่านสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ และจะมีผลใน ๑๒๐ วัน คือ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ จึงเป็นกฎหมายที่จะก่อให้เกิดการ ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ของไทยครั้งใหญ่

อาจกล่าวได้ว่าในรอบร้อยปี ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่จะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมอาญาได้เท่ากับ กฎหมายที่ก้าวหน้าและเป็นสากล เช่นฉบับนี้

เนื้อหาสำคัญที่ตำรวจ เจ้าพนักงานทุกหน่วยและประชาชนทุกคนต้องสนใจ ได้แก่

มาตรา ๒๒ ในการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในบันทึกการควบคุม

การควบคุมตัวตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องแจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที สำหรับในกรุงเทพมหานครให้แจ้งพนักงานอัยการและผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง หากผู้รับแจ้งเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ผู้รับแจ้งดำเนินการตามมาตรา ๒๖ ต่อไป

นั่นหมายถึง ตำรวจสายโจรบางกลุ่ม บางคน หากปฏิบัติการจับกุมที่ละเมิดกฏหมาย ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย มีโอกาสที่จะเข้าคุกได้เช่นเดียวกับประชาชน จะมาอาศัยหัวหน้างาน ที่คอยช่วยปกปิดร่องรอยการกระทำความผิดไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับตำรวจที่เป็นฝ่ายเดียวกับคู่กรณีอีกต่อไป สามารถไปที่ฝ่ายปกครอง หรืออัยการได้เลย ที่มีอำนาจสอบสวนการกระทำความผิดของตำรวจได้ทันที

มาตรา ๒๖ เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ยุติการกระทำนั้นทันที

(๑) ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๒๔
(๒) พนักงานอัยการ
(๓) ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง หรือนายอำเภอ
(๔) พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
(๕) คณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมาย
(๖) บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย

นั่นคือมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกรณีที่ ผู้เสียหาย ถูกซ้อม ถูกตบ ถูกทรมานให้รับสารภาพ ญาติพี่น้อง หรืออีกหลายหน่วยงานสามารถทำเรื่องถึงศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ยุติการกระทำนั้นทันที เพราะที่ผ่านมา เราจะเห็นตำรวจฝ่ายเดียว ที่ถ่วงเวลาที่จะเอาความผิดพวกเดียวกัน ไร้การตรวจสอบพวกเดียวกัน ปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน จนผู้เสียหายเบื่อเหนื่อย ระอา และยกเลิกการติดตามเรื่อง ปล่อยให้เป็นเรื่องเวรกรรม เพราะเชื่อว่าไม่มีทางที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดได้เลย

มาตรา ๓๑ ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น นอกจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ให้พนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ เป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจสอบสวนตาม พระราชบัญญัตินี้และความผิดอื่นที่เกี่ยวพันกัน……..

ในกรณีที่การสอบสวนโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่พนักงานอัยการ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบเพื่อเข้าตรวจสอบและกำกับการสอบสวนทันที
ตามมาตรา31 นี้ คำว่า “ตำรวจ” ต้องทำสำนวนคดีแต่ฝ่ายเดียวคงหมดไปแล้ว

ดังนั้นเมื่อถึงวันกฎหมายมีผลคือ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ตำรวจหรือข้าราชการของรัฐ

เจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจจับกุมทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นการจับตามหมาย หรือในกรณีกระทำความผิดซึ่งหน้า ถ้ามีการทำร้าย หากไม่ถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส มีโทษตามมาตรา ๓๕ จำคุกถึงสิบห้าปี
หากเป็นกรณีบาดเจ็บสาหัส มีโทษตามวรรคสอง จำคุกถึงยี่สิบห้าปี

ถ้าเป็นกรณี “ย่ำยีศักดิ์ศรีความมนุษย์” คือ พฤติกรรมที่คนทั่วไปไม่ทำกัน มีโทษตาม มาตรา ๓๖ มีโทษ จำคุกถึงสามปี

ผู้ใดพบเห็นการกระทำ สามารถไปแจ้งต่อ “นายอำเภอ” หรือ “อัยการจังหวัด” ให้สอบสวนดำเนินคดีได้ทันที
หากเป็นกรณีเหตุเกิดใน กรุงเทพมหานคร ให้แจ้งต่อ อธิบดีกรมการปกครอง ดำเนินการสอบสวน

“กระบวนการยุติธรรมอาญา” ของไทย จะไม่ตกเป็น “เครื่องจักรรีดไถ” สร้างความร่ำรวยให้ “ตำรวจผู้ใหญ่” หรือเจ้าพนักงานของรัฐหน่วยใดอีกต่อไป.!!!