มีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นเจ้าบ้าน จะเป็นเจ้าของบ้านหรือไม่
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแต่ป้องกันมิให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเสียชื่อเสียงจึงใช้นามสมมุติ เรื่องมีอยู่ว่า นายใจดี(นามสมมุติ)
มีบ้านอยู่ 2 หลัง มีนิสัยเอื้อเฟื้อต่อคนอื่น จึงได้ยินยอมให้นายยากจน(นามสมมุติ)เข้าพักอยู่อาศัยในบ้านของ
ตนหลังหนึ่งโดยมิได้คิดค่าเช่า นายยากจนอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวหลายปีเรื่อยมาด้วยความสุขสำราญจนมีความคิดอยากได้บ้านดังกล่าวเป็นของตนเอง นายยากจนจึงไปดำเนินการทางทะเบียนราษฎร์จนมีชื่อของ
ตัวเองเป็นเจ้าบ้านในบ้านดังกล่าว และนายยากจนก็พูดกับชาวบ้านทั่วไปว่า บ้านดังกล่าวเป็นของตนเองซึ่ง รู้ถึงหูนายใจดี นายใจดีก็จึงไม่ยอมให้อยู่ในบ้านนั้นอีกต่อไปและฟ้องขับไล่ให้ออกจากบ้านนั้น แต่นายยากจน ก็ต่อสู้คดีไม่ยอมออกโดยอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้วเพราะตนมีชื่อเป็นเจ้าบ้าน นายใจดีได้ว่าจ้างทนายฝีมือดีว่าความให้ ทนายก็ได้นำสืบพยานชาวบ้านที่รู้เห็นตอนนายใจดีสร้างบ้านรวมทั้งนำสืบผู้รับเหมาสร้างบ้านตลอดจนเอกสารใบเสร็จค่าก่อสร้างต่างๆพิสูจน์ในศาลว่านายใจดีเป็นเจ้าของแท้จริง ทั้งสองฝ่ายต่อสู้คดีกันจนถึงศาลสูงสุด ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2361/2530 วินิจฉัยชี้ขาดว่า แม้นายยากจนได้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอเพื่อขอเลขบ้านพิพาทใหม่ ถึงหากจะกระทำไปโดยต้องการเอาบ้านดังกล่าวเป็นของตน แต่เลขบ้านมิใช่เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ ทั้งโจทก์(นายใจดี)เป็นเจ้าของเลขบ้านนั้นอยู่ แม้จำเลยจะไปขอเลขบ้านดังกล่าวและได้เลขบ้านนั้นมา ก็ไม่ทำให้โจทก์(นายใจดี)หมดสิทธิในบ้านดังกล่าว จากคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ย่อมเป็นเครื่องเตือนใจได้ว่า แม้มีชื่อในทะเบียนบ้านว่าเป็นเจ้าบ้าน ก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของบ้าน