ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2542
พนักงานอัยการ จังหวัด นครศรีธรรมราช
โจทก์
นาย สุรินทร์ เจริญ วรร ณ
จำเลย
ป.วิ.อ. มาตรา 227
โจทก์ มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่า ที่อ้างว่าสืบทราบว่าจำเลยลักลอบจำหน่ายเฮโรอีนนั้นสืบทราบด้วยวิธีใดและ จำเลยมีพฤติการณ์อย่างใด การไปจับกุมจำเลยมานี้ไม่ได้ใช้วิธีล่อซื้อแต่เป็นการนำหมายค้นไปค้นเพื่อพบ และยึดสิ่งของผิดกฎหมาย ซึ่งการที่ร้อยตำรวจโท ป.ยันยันว่า มีชายซึ่งไม่ได้สอบถามชื่อมา กระซิบ บอกว่ามี เฮโรอีนอยู่หลังบ้านจำเลยนั้นถือเป็นการเลื่อนลอยทั้งการค้นของเจ้าพนักงาน ก็มิได้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ว่า การค้นในที่รโหฐานเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือ บุคคลในครอบครัว ฯลฯแต่ในขณะที่ไปตรวจค้นนั้นมีจำเลยอยู่ที่บ้านคนเดียวและไม่ปรากฏว่ามีเหตุ ขัดข้องอย่างใด เมื่อค้นในบ้านไม่พบสิ่งผิดกฎหมายก็สมควรจะนำจำเลยไปหลังบ้านด้วยและค้นต่อ หน้าจำเลยเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย การที่ค้นพบเฮโรอีนของกลางลับหลัง อย่างนี้ทำให้ยังเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัย จำเลยประกอบอาชีพมีงานทำเป็นกิจจะลักษณะโดยเป็นเจ้าของร้านรับซ่อมรถ จักรยานยนต์อยู่ ณ บ้านที่เกิดเหตุนั้นเองมี ช. กำนันตำบลที่เกิดเหตุรับรองว่าจำเลยไม่เคยเสพหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และทางพิจารณาได้ความว่าบริเวณที่พบเฮโรอีนของกลางมิได้อยู่ในบ้าน แต่อยู่นอกบ้านออกไปในที่โล่ง ไม่มีหลังคาคลุม เพียงแต่มีรั้วลวดหนามกั้นอยู่โดยรอบ ซึ่งก็สามารถเดินผ่านข้ามได้แสดงว่ารั้วนี้กั้นคนไม่ได้ทั้งจุดที่ค้นพบถุง เฮโรอีนซึ่งอยู่ห่างรั้วประมาณ 1 ศอกนั้น ก็ง่ายต่อการที่ ผู้อื่นจะนำถุงเฮโรอีนของกลางไปวางซุก ไว้อย่างยิ่งโดยไม่ถึงกับต้องเข้าไปข้างในรั้วเพียงแต่เดินมาข้างรั้ว แล้วยื่นมือเข้าไปวางก็ทำได้ทุกเวลาอยู่แล้ว จะฟังว่า ค้นพบเฮโรอีนของกลางหลังบ้านจำเลยก็ต้องเป็นของจำเลย ยังฟังได้ไม่ถนัด กรณีมีเหตุสงสัยจึงเห็นสมควรยกประโยชน์ แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
___________________________
โจทก์ ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 และริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาล ชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาล ฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจค้นบ้านจำเลยตาม หมายค้นพบเฮโรอีน 43 หลอด บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกซุกซ่อนอยู่ในพงหญ้าหลังบ้านภายในรั้วบ้าน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า เฮโรอีนของกลางที่ค้นพบเป็นของจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่เคยเสพหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติดใด ๆ มาก่อน สภาพห้องแถวมีทั้งหมด 10 กว่าห้อง สามารถเดินติดต่อกันได้ทุกห้อง อาจเป็นเฮโรอีนของบุคคลที่อยู่หลังห้องข้างเคียงก็ได้ โจทก์มีร้อยตำรวจโทปรีชา ศรีสกุล เป็นพยานเบิกความว่า สืบทราบมาก่อนว่าจำเลยลักลอบจำหน่ายเฮโรอีนและมั่วสุมเสพเฮโรอีนที่บ้านซึ่ง เป็นร้านซ่อมรถจักรยานยนต์เคยตักเตือนแล้ว วันเกิดเหตุค้นในบ้านจำเลยไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่เมื่อดึงประตูหลังบ้านที่ เปิดอยู่เข้ามาดูด้านหลังพบเข็มฉีดยา 2 ชุดกับหลอดกาแฟมีร่องรอยการใช้ยาเสพติดแล้ว 3 หลอด และพบกระสุนปืนขนาด 9 มม. อยู่ในกระเป๋ากางเกงวางอยู่บนพื้นดินห่างประตูหลังบ้าน 1 เมตร ขณะเขียนบันทึกการตรวจค้นจับกุมอยู่มีชาวบ้านมาบอกว่าเฮโรอีนอยู่ที่ริมรั้ว หลังบ้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ตรวจค้นแล้วแต่ไม่พบจึงตรวจค้นใหม่อีกครั้ง พบเฮโรอีนของกลางห่ออยู่ในถุงพลาสติกสีขาวผูกม้วนมัดไว้อยู่ในพงหญ้าห่างจาก หลังบ้านประมาณ 5 เมตร และมีสิบตำรวจตรีสมรักษ์ นาคสุวรรณ เป็นพยานเบิกความว่าตรวจค้นภายในบ้านไม่พบสิ่งผิดกฎหมายจากนั้นได้ตรวจค้น รอบบริเวณหลังบ้าน ขณะนั้นประตูหลังบ้านเปิดอยู่จึงเปิดดูด้านหลังประตู พบเข็มฉีดยา 2 ชุด อยู่ข้างประตู กับหลอดกาแฟปิดหัวท้ายมีร่องรอยการใช้เฮโรอีนแล้วตกอยู่ 3 หลอดจึงยึดไว้ จากนั้นร้อยตำรวจโทปรีชาสั่งให้ตรวจค้นใหม่โดยบอกว่ามีคนมากระซิบ ว่ามีเฮโรอีนอยู่ด้านหลังบ้านจึงย้อนไปตรวจค้นใหม่ หลังบ้านจำเลยมีรั้วลวดหนามเป็นที่ทิ้งขยะมีหญ้ารกสูงแค่ เข่าไม่สามารถเดินผ่านได้ เจ้าพนักงานตำรวจทั้งหมดช่วยกันแหวกคุ้ยหญ้าและค้นพบเฮโรอีนอยู่ในถุง พลาสติกม้วนไว้ซุกซ่อนอยู่ในพงหญ้า เห็นว่าโจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่า ที่อ้างว่าสืบทราบว่าจำเลยลักลอบจำหน่ายเฮโรอีนนั้น สืบทราบด้วยวิธีใด และจำเลยมีพฤติการณ์อย่างใด ที่ไปจับกุมจำเลยมานี้ไม่ได้ใช้วิธีล่อซื้อแต่เป็นการนำหมายค้นไปค้นเพื่อพบ และยึดสิ่งของผิดกฎหมายแล้วอ้างว่าพบเฮโรอีนของกลางอยู่ที่พงหญ้าหลังบ้าน นอกตัวบ้านออกไป โดยร้อยตำรวจโทปรีชายืนยันว่ามีคนมา กระซิบ บอกว่ามีเฮโรอีนอยู่หลังบ้าน แต่เมื่อจำเลยถามค้านถึงคนที่มาบอกนี้ ร้อยตำรวจโทปรีชาเบิกความว่าเป็นผู้ชาย ไม่ได้สอบถามชื่อไว้ เห็นว่าเลื่อนลอยอยู่ปรากฏว่าสิบตำรวจตรีสมรักษ์ตอบคำถามค้านว่าเป็นผู้ตรวจ ค้นพบเฮโรอีนเมื่อค้นพบแล้วได้เรียกร้อยตำรวจโทปรีชามาดูโดยใช้วิทยุเรียก ส่วนจำเลยอยู่ละแวกที่ตรวจค้นพบเฮโรอีนและตัวจำเลยเบิกความว่า เมื่อตรวจค้นพบเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้จำเลยไปดู บอกว่าพบเฮโรอีนที่รั้วหลังบ้านแสดงว่าการค้นของเจ้าพนักงานชุดนี้มิได้เป็น ไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ว่า การค้นในที่รโหฐานเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือ บุคคลในครอบครัว ฯลฯ เพราะได้ความจากที่โจทก์จำเลยนำสืบมาตรงกันว่า ขณะที่ไปตรวจค้นนั้นมีจำเลยอยู่ที่บ้านคนเดียวและไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัด ข้องอย่างใด เมื่อค้นในบ้านไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแล้วยังมีคนมากระซิบ บอกอย่างนี้ก็สมควรจะนำจำเลยไปหลังบ้านด้วยและค้นต่อหน้าจำเลยเพื่อแสดงความ บริสุทธิ์และเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายการที่ค้นพบเฮโรอีนของกลางลับหลังอย่าง นี้ทำให้ยังเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัย จำเลยประกอบอาชีพมีงานทำเป็นกิจจะลักษณะ เป็นเจ้าของร้านรับซ่อมรถจักรยานยนต์อยู่ ณ บ้านที่เกิดเหตุนั้นเอง มีนายเชาวน์ ผลไชย กำนันตำบลที่เกิดเหตุมาเบิกความเป็นพยานรับรองว่าเท่าที่สืบทราบจำเลยไม่เคย เสพหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษและทางพิจารณาได้ความว่าบริเวณที่พบเฮโรอีนของ กลางมิได้อยู่ในบ้าน แต่อยู่นอกบ้านออกไปในที่โล่ง ไม่มีหลังคาคลุมเพียงแต่มีรั้วลวดหนามกั้นอยู่โดยรอบ ซึ่งร้อยตำรวจโทปรีชาพยานโจทก์เบิกความว่า รั้วลวดหนามหลังบ้านนี้สามารถเดินข้ามได้และสิบตำรวจตรีสมรักษ์พยานโจทก์ เบิกความว่า รั้วลวดหนามชำรุดสามารถเดินผ่านได้ ซึ่งตรงกับที่พนักงานสอบสวนเขียนบรรยายไว้ในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิด เหตุเอกสารหมาย จ.1 ว่ารั้วลวดหนามชำรุด สามารถเดินผ่านได้แสดงว่ารั้วนี้กั้นคนไม่ได้ ทั้งจุดที่ค้นพบถุงเฮโรอีนนั้นตามที่แสดงไว้ในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิด เหตุด้วยจุดหมายเลข 1อยู่ใกล้ชิดติดกับรั้วลวดหนามมาก ตามคำร้อยตำรวจโทปรีชาตอบคำถามค้านว่าอยู่ห่างรั้วประมาณ 1 ศอกเท่านั้น เห็นว่าง่ายต่อการที่ผู้อื่นจะนำถุงเฮโรอีนของกลางไปวางซุก ไว้อย่างยิ่ง เพราะระยะห่างแค่ นั้น ไม่ถึงกับต้องเข้าไปข้างในรั้วเพียงแต่เดินมาข้างรั้วแล้วยื่นมือเข้าไปวาง ก็ทำได้ทุกเวลาอยู่แล้วจะฟังว่าเมื่อค้นพบเฮโรอีนของกลางหลังบ้านจำเลยก็ ต้องเป็นของจำเลยยังฟังได้ไม่ถนัด กรณีมีเหตุสงสัยตามสมควรเช่นเดียวกับกระสุนปืนที่ศาลชั้นต้นยกประโยชน์แห่ง ความสงสัยให้แก่จำเลยไปแล้ว จึงเห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำคุกศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบกระสุนปืนของกลาง
(อภิชาต สุขัคคานนท์-ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ-มงคล คุปต์กาญจนากุล)
แหล่งที่มา
สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
แผนก
หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น
หมายเหตุ
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 857/2482
อัยยการลำพูน
โจทก์
นายเม่น แซ่เดี่ยว
จำเลย
ป.วิ.อ. มาตรา 52, 102
นายสิบตำรวจและพลตำรวจเข้าค้นบ้านเพื่อจับสุราเถื่อนโดยไม่มีหมายเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความอาญา
ค้นสุราของกลางได้แล้วมิได้ทำบันทึกให้พะยานในการค้นลงชื่อ จับตัวไปสถานีตำรวจทีเดียวไม่สอบด้วยวิธีพิจารณาอาญา ม.102
___________________________
นายสิบตำรวจพร้อมด้วยพลตำรวจได้ไปทำการค้นบ้านจำเลยโดยไม่มีหมายค้นจำเลยไม่อยู่บ้าน อยู่แต่ภริยา เมื่อค้นสุราของกลางได้ในบริเวณภายในรั้วบ้านแล้วก็จับเอาภริยาจำเลยไปสถานีตำรวจ โดยมิได้ทำบันทึกให้ภริยาจำเลยลงชื่อ
ศาลจังหวัดลำพูนลงโทษจำเลยตามพ.ร.บ.ภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๖ มาตรา ๘
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเจ้าพนักงานค้นเป็นนายสิบตำรวจทำการค้นโดยไม่มีหมายไม่ชอบด้วยประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒ ข้อ (๑๗) ทั้งไม่ได้แสดงบริสุทธิเสียก่อนตามมาตรา ๑๐๒ และไม่ได้ให้ภริยาจำเลยลงชื่อในบัญชีของกลาง การค้นก็ให้คนมีสาเหตุกับจำเลยเข้าค้นด้วย คำรับชั้นสอบสวนของจำเลย ๆ รับโดยเข้าใจว่ารับแล้วเขาจะปล่อยภริยาซึ่งไม่ได้ความว่ามีเหตุอะไรที่จะจับไว้ได้ตามวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๗๘ จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เจ้าพนักงานค้นโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย และมิได้ปฏิบัติในการจับกุมของกลางตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความอาญามาตรา +๒,๑๐๒ และข้อเท็จจริงยังเป็นที่สงสัย จึงพิพากษายืนตาม ศาลอุทธรณ์
(อมาตย-วิเศษ-มนูภันย์วิมลสาร)
ศาลชั้นต้น – นายจาน เจียร+
ศาลอุทธรณ์ – นายแอสตัน
แหล่งที่มา
กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
แผนก
หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น
หมายเหตุ
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2549
พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์
โจทก์
นางสำรวย จารย์โพธิ์
จำเลย
ป.วิ.อ. มาตรา 102
การค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาที่แขวนอยู่ข้างบ้านทิศตะวันออก นอกจากมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยหรือสามีจำเลย ทั้งๆ ที่จำเลยก็ถูกจับและควบคุมตัวอยู่ที่หน้าบ้านนั้นเองแล้ว ยังได้ความว่าการพบธนบัตรในข้องปลาก็เป็นเรื่องที่ในชั้นแรกสิบตำรวจตรี พ. ค้นพบเพียงคนเดียวก่อน แล้วจึงเรียกกำนันที่เชิญมาเป็นพยานในการค้นมาดู หาใช่ว่าเป็นการค้นพบธนบัตรของกลางที่พบต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยานดังที่ ป.วิ.อ. มาตรา 102 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ไม่ พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับการค้นพบธนบัตรของกลางซึ่งเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลจะรับฟัง
___________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67 และคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับจริงตามฟ้องหรือไม่ สิบตำรวจตรีไพฑูรย์ วุธพันธ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า พยานเป็นผู้จัดหาสายลับมาและสายลับรู้จักกับจำเลยเป็นอย่างดี เมื่อสายลับผู้ล่อซื้อเป็นบุคคลที่จำเลยรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องปกปิดตัวสายลับเพื่อความปลอดภัยของสายลับดังที่โจทก์พยายามกล่าวอ้างในฎีกาจึงไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม โดยไม่ยอมลงชื่อในบันทึกการตรวจค้นและจับกุม และในชั้นสอบสวนจำเลยก็ยังยืนกรานให้การปฏิเสธทั้งไม่ยอมลงชื่อในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุด้วย คดียิ่งมีเหตุผลและความจำเป็นยิ่งขึ้นที่พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมหลักฐานให้ชัดแจ้งเพื่อยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยตามข้อกล่าวหาของเจ้าพนักงานตำรวจผู้ล่อซื้อ แต่โจทก์ก็หาได้นำสายลับผู้ร่วมปฏิบัติการตามแผนการล่อซื้อมาเบิกความต่อศาลเพื่อยืนยันความผิดข่องจำเลยไม่ ทั้งๆ ที่โดยสภาพและพฤติการณ์แห่งความจำเป็นในคดีนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้ตัวสายลับมมาเบิกความสนับสนุนเพื่อยืนยันความผิดของจำเลยดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น สำหรับพยานหลักฐานที่สำคัญของโจทก์ที่ได้นำสืบต่อศาลคือการตรวจค้นพบธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 1 ฉบับ ที่ซุกซ่อนอยู่ในข้องปลา ซึ่งตรวจสอบหมายเลขธนบัตรแล้วปรากฏว่ามีหมายเลข 9 A 7221060 ตรงกับหมายเลขธนบัตรฉบับหนึ่งในจำนวน 8 ฉบับ ที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดปฏิบัติการล่อซื้อได้ถ่ายสำเนาและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อนมอบให้สายลับไปใช้ล่อซื้อ และสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีนั้น ร้อยตำรวจเอก ก้องพิทยา อภิรมย์ชวาล พนักงานสอบสวนเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ข้องปลาดังกล่าวแขวนอยู่ข้างบ้านทางด้านทิศตะวันออกตรงที่ศาลชั้นต้นทำเครื่องหมายกาไว้ด้วยปากกาสีน้ำเงินในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ส่วนจุดที่เจ้าพนักงานตำรวจซุ่มดูอยู่ตามจุดที่กาไว้ด้วยดอกจันสีแดง จุดที่ข้องปลาแขวนอยู่กับจุดที่ซุ่มดูอยู่นั้นอยู่ในทิศทางเดียวกัน และจากจุดที่ซุ่มดูอยู่จะสามารถมองเห็นจุดที่ข้องปลาแขวนอยู่ได้ชัดเจน ซึ่งข้อความนี้เมื่อศาลฎีกาได้ตรวจพิเคราะห์ดูจุดและตำแหน่งต่างๆ ที่ศาลชั้นต้นได้ทำเครื่องหมายเพิ่มเติมไว้ในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุดังคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกก้องพิทยาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปรากฏว่าจุดที่ข้องปลาแขวนอยู่นั้นอยู่ใกล้กับจุดที่เจ้าพนักงานตำรวจซุ่มดูอยู่มากกว่าจุดที่จำเลยกับสายลับซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกันเสียอีก ดังนั้น หากสิบตำรวจตรีไพฑูรย์และสิบตำรวจตรีสุพรรณรัตน์ บัวเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ซุ่มดูการล่อซื้อสังเกตเห็นการล่อซื้อได้ชัดเจนดังที่ประจักษ์พยานทั้งสองได้เบิกความต่อศาลจริง ประจักษ์พยานทั้งสองก็น่าจะสังเกตเห็นการนำธนบัตรที่ได้จากการล่อซื้อไปซุกซ่อนเก็บไว้ในข้องปลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพราะตามคำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองก็ได้ความตรงกันว่าเมื่อสังเกตเห็นสายลับยกมือขึ้นเกาศีรษะส่งสัญญาณว่าล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจก็ได้ตรงเข้าจับกุมจำเลยทันที แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้ค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาคือสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ พละพันธ์ ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจชุดที่ได้รับมอบหมายให้แอบซุ่มดูการล่อซื้อ หากแต่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจชุดที่ซุ่มอยู่กับร้อยตำรวจตรีนะมนต์ พลเทียร ซึ่งซุ่มรออยู่ห่างจากบ้านจำเลยประมาณ 100 เมตร อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่าสิบตำรวจตรีไพฑูรย์และสิบตำรวจตรีสุพรรณรัตน์ซึ่งได้รับมอบหมายให้ซุ่มดูการล่อซื้อนั้นมิได้สังเกตเห็นการนำธนบัตรของกลางไปใส่ซุกซ่อนไว้ในข้องปลาเลย จึงเป็นการขัดต่อเหตุผล ทำให้คำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองมีข้อพิรุธน่าสงสัยว่า แท้จริงแล้วได้มีการแอบซุ่มดูการล่อซื้อจริงดังที่พยานทั้งสองได้เบิกความต่อศาลหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ผู้ค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาก็เบิกความว่า ก่อนทำการตรวจค้นได้แสดงความบริสุทธิ์และให้ชาวบ้านไปตามสามีจำเลยและกำนันมาเป็นพยานกับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานและกำนันเป็นผู้ตรวจค้นพบเงินของกลางในข้องปลา แต่กลับเบิกความในรายละเอียดต่อไปว่า พยานเห็นเงินของกลางก่อนคนอื่นแล้วเรียกให้กำนันมาดูซึ่งตอนนั้นจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่หน้าบ้าน จุดที่พบของกลางอยู่ที่ข้างบ้านพยานเป็นผู้นำธนบัตรไปให้ร้อยตำรวจตรีนะมนต์ซึ่งอยู่หน้าบ้านตรวจดู อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการค้นพบธนบัตรของกลางนั้นสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้นหรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน” ตามคำเบิกความของสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์นั้น การค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาที่แขวนอยู่ข้างบ้านทางทิศตะวันออก นอกจากมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยหรือสามีจำเลย ทั้งๆ ที่จำเลยก็ถูกจับและควบคุมตัวอยู่ที่หน้าบ้านนั้นเองแล้ว ยังได้ความว่าการพบธนบัตรในข้องปลาก็เป็นเรื่องที่ในชั้นแรกสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ค้นพบเพียงคนเดียวก่อน แล้วพยานจึงเรียกกำนันที่เชิญมาเป็นพยานในการค้นมาดู หาใช่ว่าเป็นการค้นพบธนบัตรของกลางที่พบต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยานดังที่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ไม่ พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับการค้นพบธนบัตรของกลางซึ่งเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลจะรับฟังเชื่อถือได้อย่างสนิทใจและเมื่อได้ประมวลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วเห็นว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจะได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยและพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
(ธานิศ เกศวพิทักษ์-วิชัย วิวิตเสวี-พิทักษ์ คงจันทร์)
แหล่งที่มา
สำนักวิชาการ
แผนก
หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น
หมายเหตุ